ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 133 (บทความ) _ โตมากับการฟังเพลงในยุค 90 ตอนปลายๆ

โตมากับการฟังเพลงในยุค 90 ตอนปลายๆ
28 ก.ย. 2560

ปัจจุบันผมอายุก็เกือบๆจะ 40 อยู่แล้ว (แก่เนาะ) ซึ่งแน่นอนว่าคนอายุประมาณนี้ก็ย่อมโตมาในยุค 90 ตอนปลายๆหน่อย หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆเลยก็คือ 1980 เป็นต้นมานั่นแหละครับ

แล้วสาเหตุที่วันนี้จะมาเขียนถึงเรื่อง การฟังเพลงในยุค 90 นั่นก็เพราะว่า วันนี้เปิดดูยูทูปฟังเพลงนี่แหละครับ แล้วไปเจอเพลงของค่าย RS เช่น ดีทูบี (D2B), แรพเตอร์, โดม-ปกรณ์ ลัม (เด็กๆยุคใหม่อาจจะไม่รู้ ว่าโดมเคยอยู่ค่าย RS) และโมเม-นภัสสร บุรณศิริ (คนนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ใครจะไปคิดว่าเธอเคยออกอัลบั้มด้วยแหละ) พอเจอเพลงพวกนี้ก็กดฟังสิครับ ฟังๆไปก็คิดถึงอดีตไป (โชว์ความหลัง โชว์ความแก่ตามวัย)

ยอมรับเลยว่า ผมโตมากับค่าย RS มากกว่าค่าย แกรมมี่ (สมัยนั้นมี 2 ค่ายนี้แหละ ที่ยิ่งใหญ่ และแย่งแฟนเพลงกันได้) อาจจะเพราะว่าศิลปินค่าย RS ออกแนววัยรุ่นมากกว่าก็เป็นได้ รวมไปถึงแนวเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าฟังสบายกว่าอีกค่าย (จริงๆจำไม่ได้แล้ว ว่าเพราะอะไรกันแน่ ฮ่าๆๆ)

ในสมัยนั้นการจะได้ฟังเพลงแต่ละเพลงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย เพราะระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่สะดวกสบายเหมือนยุคปัจจุบันนี้ สมัยนั้นถ้าจะฟังเพลงต้องนี่เลยครับ..วิทยุ แล้วไม่ใช่ว่ามีวิทยุแล้วจะได้ฟังเพลงที่อยากฟังนะครับ ต้องมารอลุ้นรายการเพลงที่เปิดฟังอีกครับ ว่าดีเจจะเปิดเพลงนั้นมั้ย หรือถ้ามีช่วงขอเพลง ก็ต้องลุ้นว่า คนที่โทรเข้าไปขอเพลง จะใจตรงกับเรามั้ย ถึงจะลุ้นเหนื่อย แต่ถ้าได้ฟังก็มีความสุขแล้วครับ แต่ถ้าบางคนมีเงินเยอะหน่อย ก็ไม่ต้องรอลุ้นรายการเพลงครับ ลงทุนซื้อเทปของศิลปินคนนั้นเลยครับ (เด็กรุ่นใหม่จะรู้จักเทปมั้ยนะ)

แต่ด้วยความที่เทปมันราคาประมาณ 80-90 บาท ซึ่งผมในตอนนั้นก็ยังไม่มีเงินมากขนาดนั้น แต่อยากได้เพลงที่ชอบมาเปิดฟังโดยไม่ต้องลุ้น ผมจึงต้องทำการพึ่งพาตัวเองด้วยการ..ซื้อเทปเปล่ามาอัดเองครับ ถ้าจำไม่ผิดเทปเปล่าน่าจะราคาประมาณ 30-50 บาท

การอัดเพลงเป็นความสนุกอย่างหนึ่งในสมัยนั้นเลยนะครับ เอ๊ะ เดี๋ยวๆ ขอแวะอธิบายเรื่องการอัดเพลงก่อน เพราะเด็กรุ่นใหม่คงไม่เข้าใจแน่นอน การอัดเพลงคือ การที่ต้องหาวิทยุที่สามารถใส่เทปได้ และนอกจากจะใส่เทปได้แล้ว มันยังต้องมีปุ่มกดอัดเสียงด้วย อธิบายแค่นี้น่าจะพอนึกภาพออกกันนะครับ มาต่อกันเรื่องความสนุกในการอัดเพลงกัน ถามว่ามันสนุกตรงไหน ก็ตรงที่ต้องรอลุ้นให้ดีเจเปิดเพลงที่เราอยากได้ไงครับ นั่งรอ นอนรอ เปิดฟังรายการเพลงวนๆไป ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า บางทีก็ต้องรอลุ้นเป็นอาทิตย์ เป็นเดือนก็มี กว่าจะได้เจอเพลงที่อยากฟัง พอดีเจเปิดแล้ว เพลงมาแล้ว ก็กดอัดเลยสิครับ เห็นมั้ยครับสนุกจะตาย แต่มันยังไม่หมดสนุกแค่นั้นนะครับ เพราะมันยังต้องลุ้นต่อว่า ดีเจจะพูดระหว่างเพลงมั้ย หรือดีเจจะตัดเพลงจบดื้อมั้ย หรือดีเจจะตัดเข้าโฆษณามั้ย โห สนุก ตื่นเต้นครับ

การอัดเพลงมีข้อเสียตามที่ต้องลุ้นนั่นแหละครับ บางทีก็มีเสียงดีเจในเพลง บางทีก็ไม่จบเพลงก็มี หรือบางที อัดๆไป มีเสียงปุ่มอัดเด้ง ปึ๊ก!! หันไปดู ชิบหาย เทปหมด ฮ่าๆๆ กลายเป็นว่า เพลงก็อัดไม่จบ แล้วต้องรอลุ้นอัดใหม่อีกครับ แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียนะครับ ข้อดีของมันก็มี นั่นก็คือ เราสามารถเลือกอัดเฉพาะเพลงที่ชอบได้ไงครับ เวลาฟังเพลงจากเทปอัดของเรา เราก็จะได้ฟังแต่เพลงที่เราชอบๆทั้งนั้นยาวเลย 10-14 เพลงรวด สะใจมากๆครับ

จะว่าไปเแล้วก็ออกนอกเรื่องมายาวเลยนะครับเนี่ย จริงๆเรื่องที่ผมจะเขียนถึงไม่ใช่เรื่องวิทยุ เรื่องรายการเพลง หรือเรื่องการอัดเพลงนะครับ ที่ผมจะเขียนถึงจริงๆวันนี้คือเรื่อง การฟังเพลงในยุค 90 ครับ การฟังเพลงสมัยนั้น เรามักจะได้ยินเพลงจากรายการวิทยุเป็นที่แรก แล้วถึงจะได้รู้จักว่า อ่อ เพลงนี้ชื่อเพลงอะไร เป็นเพลงของใคร แล้วเราถึงจะได้เห็นตัวนักร้องจากทีวี (ขอใช้คำว่า ทีวี เลยนะครับ)

การฟังเพลงสมัยนั้นจะเป็นการชอบที่เพลงจริงๆครับ เพราะเรามักจะได้ยินเพลงก่อนเห็นตัวนักร้อง พอเราชอบไปแล้ว มันก็ชอบเลย ต่อให้นักร้องหน้าตาไม่ได้ เราก็ไม่แคร์แล้วครับ เพราะเราชอบน้ำเสียง และท่วงทำนองของเพลงของเขาไปแล้ว ผมเลยเชื่อว่า การแต่งเนื้อเพลง เรียบเรียง รวมถึงการใส่ทำนองเพลงในสมัยนั้น เขาเอาจริงเอาจังมากๆ เพื่อให้เพลงมีความเพราะ น่าฟังมากๆให้ได้ครับ เพลงบางเพลงของยุค 90 ตอนปลาย ก็กลายเป็นเพลงอมตะในยุคนี้ไปแล้ว เปิดฟังทีไรก็สนุก ก็เพราะซึ้งกินใจครับ

หากจะเทียบกับสมัยนี้ที่ผมชักไม่แน่ใจแล้วว่า วงการเพลงของเรายังขายเพลงกันอยู่หรือเปล่า เพราะเพลงบางเพลงก็เหมือนทำส่งๆออกมา ไม่ติดหู ไม่ติดตลาดเอาซะเลย (พอๆจบ ไม่อยากเขียนยาว เพราะไม่ได้อยู่ในวงการ กลัวเขียนพลาด)

มาต่อกันเรื่องความสุขในการฟังเพลงยุค 90 จากวิทยุดีกว่า (เขียนไปเขียนมาชักจะงงๆ ตกลงกูจะเขียนเรื่องอะไรกันแน่วะ ฮ่าๆๆ) เพลงที่เปิดจากวิทยุสมัยนั้น เพลงไหนจะได้เปิดบ่อยแต่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเปิดมาครั้งแรกแล้ว มันติดหูคนฟังรึเปล่า ถ้าเพลงได้ติดหูคนฟังมากๆ รับรองเลยว่า ท่านจะได้ฟังเพลงนั้นในทุกๆ 1 ชั่วโมง หรือไม่ก็ทุกๆช่วงดีเจ (ขึ้นอยู่กับว่า ดีเจจะทำงานกี่ชั่วโมงในช่วงนั้น) หรือถ้าดีเจไม่เปิด มันก็จะมีช่วงขอเพลงอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเพลงมันดังจริง ดีจริง คนที่โทรไปขอ ก็จะขอเพลงนั้นแหละ ซึ่งมันก็ทำให้เราได้ฟังไปด้วยในที่สุด แล้วพอเพลงมันเปิดบ่อยๆๆๆ มันก็ดังขึ้นเรื่อยๆๆๆ (ก็เบาเสียงสิ เฮ้ย ไม่ใช่!!!) จนในที่สุด ก็ติดหูคนยุค 90 จนกลายเป็นเพลงอมตะ พอได้ยินเพลงนี้ทีไร ก็จะร้องได้อย่างเหลือเชื่อ แม้จะผ่านมาแล้วนับ เออ...เกือบ 20 ปีก็ตาม (โชว์แก่อีกละ)

บอกตรงๆนะครับว่า ตอนนี้สับสนตัวเองมากๆ นี่กูเขียนบทความเรื่องอะไรอยู่ ฮ่าๆๆ เหมือนไม่ได้เขียนมานานหลายๆเดือน สมองปรับตัวไม่ได้ เรียบเรียงเนื้อหาไม่ถูกยังไงก็ไม่รู้ครับ ก็ถ้าอ่านไป งงไป ก็ขอโทษด้วยนะครับ

ก่อนที่บทความจะเละไปมากกว่านี้ ขอสรุปจบดีกว่าครับ เพลงในยุค 90 คนที่อยู่ในยุคนั้นก็จะชอบเพลงแนวๆนั้นแหละครับ ส่วนคนในยุคนี้ ก็จะชอบเพลงแนวๆปัจจุบันนี้แหละครับ การที่คนยุค 90 ได้ฟังเพลงเก่าๆที่เขาเคยฟัง หรือชื่นชอบ มันก็เป็นความสุขของเขา อย่างไปแซวเขาเลยครับ ดีไม่ดีถ้าคนรุ่นใหม่ได้ลองฟังเพลงยุค 90 ก็อาจจะชอบก็ได้นะครับ อีกอย่างคือ นักร้องยุคนั้นน่ะ หน้าตาจริงๆ ไม่มีของเทียมนะเออ ฮ่าๆๆ พอครับๆ จบจริงๆละ คนเขียนออกทะเล ยิ่งเขียนยิ่งเละ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าครับ

สวัสดีครับ
ต.ต้น

ความคิดเห็น