ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 156 (บทความ) _ ประเพณีลอยกระทง ที่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ประเพณีลอยกระทง ที่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
13 พฤศจิกายน 2562

       ประเพณีลอยกระทงมีมาช้านานแล้ว จำได้ว่าเกิดมาก็ได้ลอยกระทง เล่นประทัด จุดผางประทีป(หางประทีป)รอบๆบ้าน สว่างทั่วบ้าน ทั้งบ้านตัวเอง และบ้านของเพื่อนบ้าน สนุก และมีความสุขมากๆ และยังจำได้ว่าตอนนั้นอากาศหนาวถึงหนาวมากๆ งานลอยกระทงเลยยิ่งสนุก เพราะถึงแม้คนจะเยอะ แต่มันก็ไม่ร้อนเลย ยังต้องใส่เสื้อกันหนาวด้วยซ้ำไป กลับมามอง ณ หลายๆปีที่ผ่านมา เอาสัก 5 ปีก็ได้ ลอยกระทงทีไร เหงื่อแตกทุกที ขนาดอากาศยังเปลี่ยนแปลง แล้วรูปแบบประเพณีของเรา ที่้เราเป็นคนสร้างขึ้น กำหนดขึ้น มันจะเปลี่ยนแปลงบ้างไม่ได้เชียวเหรอครับ

       วัตถุประสงค์ของประเพณีลอยกระทงตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบันยังเหมือนเดิมหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ หรือมันกลายเป็นเพียงแค่ประเพณีทางธุรกิจไปแล้ว น้อยคน น้อยบ้านที่จะร่วมกันทำกระทงเพื่อไปลอยเอง ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวย ทั้งไม่มีเวลา ทุกวันนี้ผมเลยมองว่าประเพณีลอยกระทงกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว กระทงแปลกๆออกมามากมายให้ได้เลือกซื้อเพื่อเอาไปลอย

       นอกจากนี้การขอขมา และขอบคุณพระแม่คงคาก็คงจะมีอยู่ไม่กี่คนหรอกมั้งครับ ที่ตอนจะลอยกระทงลงน้ำ แล้วอธิษฐานว่า "ขอขมา และขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้น้ำแก่พวกเราได้ใช้ดื่ม ใช้ในชีวิตประจำวัน" เพราะส่วนมากก็จะขออธิษฐานในเรื่องส่วนตัวซะมากกว่า "ขอให้รวย" "ขอให้โชคร้ายลอยไป" "ขอให้ความเศร้าลอยไป" พระแม่คงคาคงยิ้มดีใจแน่ๆเลยครับ

       บางคนไม่สะดวกไปลอยจริงๆในน้ำ ก็อาศัยลอยในอินเตอร์เน็ตเอาก็ได้ แต่ลอยในอินเตอร์เน็ต ถามว่าอธิษฐานอะไรบ้าง มีขอบคุณพระแม่คงคาหรือไม่ ก็ตอบเลยว่า "ไม่" แถมบางคนยังโดนแซวอีก "ลอยในอินเตอร์เน็ตมันจะไปได้อะไร บ้ารึเปล่า ต้องไปลอยจริงๆสิ" ก็ว่ากันไปครับ ระหว่างลอยกระทง 4G กับลอยลงน้ำจริงๆ ปล่อยเขาสู้กันไป

       ฉีกมาดูทางวัสดุที่ใช้ทำกระทงกันบ้าง เมื่อก่อนใช้โฟมก็ว่าโฟมทำลายยาก ตอนนี้ใช้วัสดุธรรมชาติก็ว่าทำน้ำเน่าเสียอีก หรือจะเป็นกระทงขนมปังที่หวังให้ปลากิน แต่พอปลากินอิ่มแล้ว กระทงก็เหลือบาน ทำน้ำเน่าเสียอีกละ เอาจริงๆประเด็นของวัสดุไม่เท่าไหร่นะครับ ผมมองว่ามันเยอะเกินไปต่างหากเลยทำให้น้ำเน่าเสีย ถ้ามันมีน้อยๆหน่อย น้ำก็อาจจะไม่เน่าเสียง่ายๆหรอกครับ

       ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ โคมลอย ในอดีตตัวเมืองยังมีไม่มาก ไม่ขยายตัวกว้างมาก พื้นที่ยังเป็นป่าซะส่วนใหญ่ การปล่อยโคมลอยมันจะไปตกตรงไหน ก็ไม่มีใครเห็น และก็ไม่สร้างความเดือดร้อนสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันเมืองมันกว้างมากๆ การปล่อยโคมลอยมันจึงเสี่ยงที่จะไปตกในจุดที่ไม่ควรตกได้ เช่น หลังคาบ้าน ในบริเวณบ้าน สายไฟฟ้า พื้นที่การเกษตร ฯลฯ หรือจะเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินที่มันขยายตัวขึ้นมาก การปล่อยโคมลอยจึงเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกได้

       ถามว่าปีนี้ผมลอยกระทงมั้ย ตอบเลยว่า ลอยสิครับ แต่ผมใช้วัสดุสุดจะธรรมชาติเลยนะครับ ฮั่นแน่ คิดว่าผมลอยกระทงน้ำแข็งล่ะสิ ผิดครับ!!! ผมลอยกระทงน้ำเปล่าเลยครับ ผมเอาขันใส่น้ำขอขมา และขอบคุณพระแม่คงคาข้างคลองเลยครับ (ไม่อธิษฐานเรื่องส่วนตัวเลยด้วย) แล้วก็เทน้ำในขันลงคลองเลยครับ กระทงละลายหายไปในพริบตาเลยครับ ฮ่าๆๆๆ

       โดยสรุปแล้ว ในความคิดของผมนะ ประเพณีลอยกระทงควรคงไว้ แต่รูปแบบควรเปลี่ยนแปลง กระทงที่จะใช้ลอยควรมีน้อยๆ เช่น จุดท่าพระจันทร์(กรุงเทพ) มีกระทง 5 ใบ เปิดหมุนเวียนให้ประชาชนมาจับกระทงเพื่อขอขอมา หรืออธิษฐานตามใจ แล้วถึงเวลาปล่อยกระทง ก็ลอยเพียงแค่ 5 ใบนั้นก็พอ ขยะจะได้ไม่เยอะ โคมลอยก็เช่นกัน จุดประตูท่าแพ(เชียงใหม่) มีโคมลอย 2 ใบ เปิดหมุนเวียนให้ประชาชนมาจับโคมลอยเพื่ออธิษฐานตามใจ แล้วถึงเวลาปล่อยก็ปล่อยแค่ 2 ใบ หรือแหวกแนวมัดเชือกไว้ด้วยก็ได้ ไม่ให้โคมลอมมันลอยไปไหน พอไฟหมดก็ให้มันตกใกล้ๆแถวๆนั้นแหละ

       สังคมเปลี่ยน ความคิดของคนก็เปลี่ยนตาม จิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติของคนมีมากขึ้นทุกวัน ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่เราอย่าแค่คิด หรือพูดเลยครับ อยากให้ลงมือทำด้วย มันจะดีมากๆครับ

ขอบคุณครับ
ต.ต้น

ความคิดเห็น