ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 110 (บทความ) _ บริจาคโลหิต

บริจาคโลหิต
03 / 03 / 2558





     "ตรงโน้นมีอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บโลหิตท่วมตัวเลย..." "ขอทางหน่อยครับๆ ผู้ป่วยเสียโลหิตมาก ต้องรักษาด่วน..." "เฮ้ย มีดบาดมือ โลหิตไหลเลย..." "โอ้โห หัวชนกัน คิ้วแตกโลหิตไหลเลยครับ..." ฟังดูทะแม่งๆเนอะครับ แม้ว่าความหมายจะเป็นความหมายเดียวกันกับคำว่า เลือด แต่ก็คงไม่มีใครใช้คำว่าโลหิตแทนคำว่าเลือดในภาษาพูดกันบ่อยนัก

     คำว่า เลือด ผมว่าเราก็ใช้กันทั่วไปสำหรับของเหลวที่มีสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตแทบจะทุกชนิด จะมีบ้างบางชนิดที่มีเลือดเป็นสีอื่น แต่หน้าที่ของมันก็ไม่ต่างกันก็คือ ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ และยังมีชีวิตอยู่ได้นั่นเอง เลือดไหล เลือดพุ่ง เลือดหมู เลือดไก่ ฯลฯ ฟังคุ้นหูกว่าคำว่าโลหิตเยอะเลยเนอะครับ

     ส่วนคำว่า โลหิต ผมคาดว่า (เดานั่นแหละ) มันน่าจะเป็นศัพท์ที่ใช้อย่างเป็นทางการซะมากกว่านะครับ เพราะคงไม่มีใครเอาคำว่าโลหิตมาใช้เรียกกันทั่วๆไปมากนัก "ฝากซื้อโลหิตไก่หน่อยนะ" "โลหิตกำเดาไหลเลย" ฟังดูแปลกๆกันน่าดู ทางการเกิ๊นนนน

     จริงๆบทความนี้จะมาชวนบริจาคโลหิต หรือบริจาคเลือดกันนะครับ ตัวผมเองบริจาคมาแล้ว 10 ครั้ง สำหรับคนที่บริจาคเลือดอยู่เป็นประจำอาจจะบอกว่า อายุ 33 แล้ว พึ่งจะได้ 10 ครั้งเองเหรอ ก็ทำไงได้ล่ะครับ เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมานั้น น้ำหนักตัวผมน้อยนี่ครับ เลยไม่ผ่านเกณฑ์การบริจาค แต่จนเมื่อผมสามารถบริจาคได้แล้ว ผมก็บริจาคมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 เดือนไม่ขาดเลยครับ

     ส่วนคนที่ยังไม่เคยบริจาค แล้วมีความคิดอยากจะบริจาค ก็ลองไปที่สภากาชาดดูนะครับ หรือไปที่ที่มีการเปิดรับบริจาคโลหิตดูนะครับ ไปลองชั่งน้ำหนัก วัดปริมาณเกร็ดเลือดดูก่อน ถ้าผ่านก็ยินดีด้วยครับ คุณกำลังจะได้ช่วยชีวิตมนุษย์เลยทีเดียวเชียว ส่วนคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็กลับไปดูแลสุขภาพดีๆ ครั้งหน้าลองใหม่ครับ

     การบริจาคโลหิตสำหรับบางคนนั้นถือเป็นเรื่องยากเอาการเลย สาเหตุก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ กลัวเข็มนั่นเอง แค่เข็มฉีกยาเล็กๆก็กลัวจนตัวสั่นละ ยิ่งไปเจอเข็มบริจาคเลือดล่ะก็นะ บางคนเป็นลมกันเลยทีเดียว (เห็นมากับตาเลยครับ ล้มทั้งยืน อุ้มกันแทบไม่ทัน ยืนดูคนอื่นโดนเจาะเลือด แต่ตัวเองเป็นลมซะงั้น) อาการกลัวเข็มรักษาไม่หายครับ แต่ถ้าคนกลัวเข็มใจกล้า บ้าพลัง ยอมเสี่ยงตายบริจาคเลือด ผมก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ (แต่เอาจริงๆนะ แนะนำว่าอย่าฝืนนะครับ เพราะอาจจะกลัวเข็มยิ่งกว่าเดิมได้)

     เอาล่ะ ทีนี้มาดูข้อดีของการบริจาคโลหิตกันสักหน่อย...

     ข้อดีทางด้านสังคม ก็คงได้เป็นคนดีกันล่ะครับ ยิ่งเดี๋ยวนี้โลกโซเชียลมันเร็ว และกว้างมาก บริจาคทีเดียวก็กลายเป็นคนดีแล้ว (มั้งครับ) นอกจากจะเป็นคนดีของสังคมแล้ว เรายังจะได้เข็มผู้บริจาคโลหิตด้วยนะครับ ซึ่งจะได้ตามจำนวนครั้งที่บริจาคครั้งที่ 1, 7, 16, 24, 36, 48, 60, 72, 84, 96 และ 108 ครั้ง (คำนวณเล่นๆ 1 ครั้งใช้เวลา 3 เดือน เพราะฉะนั้น 108 ครั้งเท่ากับ 108x3 = 324 เดือน เอา 324 เดือนหารด้วย 12 เดือน เท่ากับ 27 ปี โห นานเอาเรื่องเลย แต่ว่า..เอ็งคำนวณยากไปนะ) สำหรับถ้าครบ 50, 75 และ 100 ครั้ง จะได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณด้วยนะครับ (รู้สึกเหมือนซื้อของ แล้วได้ของแถมเลยเนอะ)

     ข้อดีทางด้านสภาพจิตใจ แน่นอนว่าเราก็ต้องรู้สึกดีมากๆล่ะครับ ที่จะได้ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นที่ต้องการเลือดในการมีชีวิตอยู่

     ข้อดีทางด้านร่างกายนั้นยังมีข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควร ว่าการบริจาคโลหิตส่งผลดีด้านไหนกันบ้าง แต่ผมจะเอามาเท่าที่รู้นะครับ เช่น ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพราะการเสียเลือดออกไปจากร่างกาย ทำให้ร่างกายต้องผลิตเลือดใหม่จากไขกระดูก ซึ่งบางก็ว่าร่างกายจะแข็งแรงขึ้น บางก็แข็งแรงเท่าเดิม จนผมก็ไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี .. ทำให้ผิวพรรณดี อันนี้ต่อเนื่องจากการผลิตเลือดใหม่ เอาง่ายๆว่าของใหม่ย่อมดีกว่าของเก่าละกันเนอะ เมื่อเลือดมาใหม่ ผิวพรรณรวมไปถึงรูปร่างก็ดีขึ้นไปด้วยล่ะครับ (มันจริงเหรอ) .. อีกสักข้อกับข้อดีที่่น่าสนใจนั่นก็คือ ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งครับ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มาเล็งเต้านม ฯลฯ (เฮ้ย เดี๋ยวๆๆ อันสุดท้ายนี่ ไม่ใช่ละ)

     ได้รู้ข้อดีของการบริจาคโลหิตกันไปแล้ว คราวนี้มาดูข้อเสียกันบ้าง ข้อเสียเท่าที่รู้มามีเพียง 2 ข้อครับ (อาจจะมีอีกก็ได้ แต่ผมรู้แค่นี้) ข้อแรกเลย หลังจากบริจาคเลือดแล้ว เราจะอ่อนเพลียล่ะครับ (ใครยังแข็งแรงอยู่ ผมขอคาราวะ) .. ข้อที่สองคือ การบริจาคเลือดที่ถี่เกินกว่า 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง อาจจะทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ครับ เพราะมันอาจจะทำให้ไขกระดูกผลิตเลือดใหม่ไม่ทันนั่นเอง

     ได้รู้ทั้งข้อดีบางข้อ และข้อเสียบางข้อของการบริจาคโลหิตกันไปแล้วนะครับ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะยอมเสียเลือดกันบ้างล่ะครับ

     ทิ้งท้ายบทความนี้ไว้ว่า การบริจาคโลหิต หรือบริจาคทุกๆอย่าง ไม่มีใครบังคับเราได้นะครับ อาจจะมีการโน้มน้าว อาจจะมีการท้าทาย แต่สุดท้ายแล้วเราก็คือ คนที่ตัดสินใจนะครับ อย่าทำอะไรที่ฝืนใจตัวเองในการบริจาคนะครับ เพราะถ้าคนที่ได้รับบริจาคจากเราไป เขาได้รับรู้ว่าเราฝืนใจ เขาก็คงไม่สบายใจเหมือนกัน


ความคิดเห็น