คะ ค่ะ แบ่งอย่างไร
14 ม.ค. 2559
เอาจริงๆ ผมก็ไม่น่าจะมาถึงจุดนี้ได้เลยนะครับ จุดที่ต้องมาอธิบายว่า คำว่า คะ กับ ค่ะ ใช้อย่างไร แบ่งอย่างไร เพราะผมนั้นเป็นผู้ชาย แล้วผู้ชายเนี่ยก็ไม่ต้องใช้ทั้ง 2 คำนี้ เพื่อพูดคุยกับใครสักเท่าไหร่เลย (จะยกเว้นผู้ชายโรแมนติก (รึเปล่า?) ที่ชอบใช้ คำว่า คะ ค่ะ กับผู้หญิงอยู่บ่อยๆ) จะว่าพูดคุยก็คงไม่ใช่ครับ ต้องบอกว่า เขียน หรือพิมพ์ซะมากกว่านะครับ
แต่ก็นะ ด้วยความหงุดหงิด จิตหงุดเงี้ยว (เฮ้ย เดี๋ยวๆ มันใช่เหรอ อย่าผวนนะ) เออ...ด้วยความหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นคุณผู้หญิงใช้ทั้ง 2 คำนี้ผิดที่ ผิดเวลา ผิดโอกาส ทั้งๆที่เป็น 2 คำ ที่คุณผู้หญิงทั้งหลายใช้เขียนมาตั้งแต่เริ่มเขียนได้ เขียนเป็น ผมก็เลย...เอาวะ สอนนางเงือกว่ายน้ำมันซะเลยละกัน (เอ๊ะ ทำไมต้องนางเงือก .. ก็ผู้หญิงไม่ใช่ชาละเดือน (ชาละวัน) ก็ต้องไม่ใช่จระเข้สิ)
จากประสบกาม (การณ์เหอะ) จากประสบการณ์ส่วนตัวโดยตรงของผมเลยนะ ผมแบ่งการใช้ 2 คำนี้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ แบบคำถาม กับ แบบคำตอบ ถามว่าแบ่งยังไง คำตอบที่ทำให้จำไปใช้แบบง่ายๆเลยคือ...
คะ : ไม่มี ไม้เอก จะเป็นคำถาม ที่รอไม้เอกมาเติมให้เป็นคำตอบ
ค่ะ : มี ไม้เอก คือ คำตอบที่เติมไม้เอกให้คำถามแล้วนั่้นเอง
(จำง่ายมั้ย ?)
ไปไหนมาคะ กินข้าวรึยังคะ อิ่มมั้ยคะ สนุกมั้ยคะ ตื่นยังคะ : ไม่มีไม้เอก จึงเป็นคำถาม
ไปขี้มาค่ะ (นี่ก็แรงเกิ๊น กลิ่นลอยมาเชียว) กินแล้วค่ะ ไม่อิ่มค่ะ ไม่สนุกค่ะ ยังหลับอยู่ค่ะ (กวนตีนละ) : มีไม้เอก จึงเป็นคำตอบ
ที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น คือ การใช้ประโยคแบบคำถาม กับ คำตอบ แต่คำว่า คะ กับ ค่ะ ยังแบ่งได้อีก 2 แบบ คือ แบบรวมคำ กับ แบบบอกเล่า
แบบรวมคำที่เคยเห็น จะใช้คำว่า คะ ในการใช้งาน เช่น คะน้า คะแนน คะเน ราคะ โยคะ ฯลฯ
แบบบอกเล่า จะคล้ายๆกับแบบคำตอบ จะต่างกันตรงที่ว่า ไม่ต้องมีคนถาม ก็บอกเล่าคนเดียวได้ เช่น สัสดีค่ะ (เฮ้ย เดี๋ยวๆ สวัสดีไม่ใช่เหรอ .. โทษๆ พอดีรีบ) สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ ขอโทษค่ะ ฯลฯ
ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า คะ ที่ใช้อยู่นอกเหนือจากที่ผมอธิบายมา แต่ก็อยากให้คุณผู้หญิงทั้งหลาย จำหลักง่ายๆแบบคำถาม กับ แบบคำตอบไว้นะครับ จะได้ใช้งานได้ถูกต้องสักที
จบการสอนนางเงือกว่ายน้ำแต่เพียงเท่านี้ล่ะครับ (ถ้านางเงือกอ้วน จะว่ายน้ำได้ปะวะ ... มึงไปถามปลาพะยูนไป!!!)
สวัสดีค่ะ
(บทความนี้ มุก 3 บาท 5 บาท มึงก็เล่นเนอะ ... ก็ไม่ได้เล่นนานไง กูเก็บกด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น