ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 130 (บทความ) _ มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในห้องแอร์

มนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในห้องแอร์
17 มิ.ย. 2559

บทความนี้ ผมไม่ได้คิด และเขียนเองนะครับ
ผมเอาบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ท่านหนึ่งมานำเสนอนะครับ
ซึ่งบทความนี้ ผมอ่านแล้ว ผมชอบมากๆ เลยขอนำมาเสนอให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
(บทความนี้ผมหามาจากไหน ผมจำไม่ได้แล้วครับ เพราะผมคัดลอกเก็บไว้ในเครื่องเป็นปีๆแล้วครับ แล้วบังเอิญวันนี้มาเปิดเจอเข้า ก็เลยเอามานำเสนอนี่แหละครับ)

บทสัมภาษณ์ : อาจารย์จุลพร นันทพานิช - เดินหารากเหง้า สถาปัตยกรรมสีเขียว
โดย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ - นิตยสาร สารคดี

จุลพร นันทพานิช…เกือบจะเรียนไม่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกือบจะตายด้วยไข้มาลาเรีย

แต่วันนี้เขาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นจากการสอนวิชาประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยกระบวนการสอนและถ่ายทอดประสบการณ์อย่างคนรู้จริง จนผลงานของนักศึกษาโดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะในระดับประเทศ

สารคดี…ชวนคุณผู้อ่านค้นหาความหมาย “ลึกๆ” ของความ “เขียว” ในสถาปัตยกรรมแห่งชีวิตของชายผู้นี้

----------------------------------

Q1 : จริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมมีผลต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง ?

     การออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ มีผลต่อจิตใจของมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน สภาพแวดล้อมนั้นก็จะส่งผลต่อความคิดจิตใจของมนุษย์ทันที สถาปัตยกรรมที่ไม่ดีทำให้คนป่วยได้ แต่การออกแบบที่ดีจะทำให้คนไม่ป่วย เรียกว่า "จิตวิทยาสภาพแวดล้อม"

     แต่สถาปนิกบ้านเรายังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญมาก ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราอยู่ในสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนอ่อนแอลง สังเกตเวลาผมพาลูกศิษย์ไปเดินขึ้นเขา ลูกศิษย์ไม่เคยเดินขึ้นเขาตามผมทัน ทั้งที่ผมอายุมากกว่าพ่อของเขาแล้ว แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่แข็งแรง อาจเพราะโตมากับร้านสะดวกซื้อ กินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

     ผมคิดว่าเราต้องตั้งข้อสังเกตแล้วว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นหลังอ่อนแอกว่าคนรุ่นก่อน ผมว่าเชื้อโรคก็ไม่ได้ต่างกัน แต่คนอ่อนแอลง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้อ่อนแอ ต้องกลับมาดูที่สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน มันทำให้คนเป็นอย่างไรก็ได้

----------------------------------

Q2 : แล้วอะไรในสถาปัตยกรรมปัจจุบันที่ทำให้คนอ่อนแอลง ?

1. “วัสดุ”

     เรื่องการใช้วัสดุมาก่อนเลย วัสดุแต่ละชนิดมีผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน

     ยกตัวอย่างว่าทำไมเราใส่เสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์แล้วเรานอนไม่สบาย เพราะมันเกิดไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำที่ผิวหนัง แต่ถ้าเราใส่ผ้าฝ้าย เรานอนสบาย หรือถ้าเราไปนอนบนเตียงที่เป็นโพลีเอสเตอร์ มันก็นอนไม่สบาย ไม่ใช่เพราะว่าร้อนนะ แต่เพราะมีไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวนำ

     เดี๋ยวนี้เขาพบแล้วว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ส่วนใหญ่บ้านอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ถ้าบ้านเราอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง แล้วหลังคาบ้านหรือเสาบ้านใช้เหล็กก่อสร้าง เหล็กก็จะเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใกล้ตัวเรา เบาะ ๆ ก็อาจอารมณ์ไม่ดี เข้าไปอยู่แล้วหงุดหงิด ถ้าหนักก็อาจเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด เพราะระบบที่เล็กที่สุดคือเซลล์ในร่างกายเราถูกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนจนรวนหมด

2. “ห้องแอร์ - การระบายอากาศ”

     แล้วเราอยู่ในบ้านนอนห้องแอร์ทุกวัน วัสดุทุกอย่างในบ้านไม่ว่าจะเป็นเคสคอมพิวเตอร์ พลาสติก ไวนิล กระเบื้องยาง มันปล่อยสารเคมีออกมาในอากาศ สีที่ใช้ทาบ้านอาจมีโลหะหนักอย่างแคดเมียมหรือโคบอลต์สูง สถาปนิกไทยก็ไม่รู้ ถ้าคนขายสีบอกปลอดภัยก็เชื่อแล้วแต่ไม่เคยตรวจสอบอย่างละเอียด บ้านที่ดีก็ควรเป็นบ้านที่ไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์

     ถ้าบ้านออกแบบการระบายอากาศไม่ดี หรืออยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทอย่างห้องแอร์ อยู่ไปนาน ๆ ก็กลายเป็นมะเร็งปอดได้

     ส่วนบ้านใครรวยปูหินแกรนิต นี่ยิ่งหนัก เพราะเขาพบว่าหินแกรนิตจะปล่อยเรดอน (radon – ก๊าซที่มีสารกัมมันตรังสี) ออกมา ความจริงวัตถุเกือบทุกอย่างปล่อยเรดอนมากน้อยต่างกัน แต่หินแกรนิตมีเรดอนสูง ต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้มาก ยุโรปเขาห้ามใช้หินแกรนิตมาตกแต่งบ้านแล้ว

     ตัวอย่างที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ในดินมีเรดอนสูงมาก จนชาวบ้านกลายเป็นโรคมะเร็งปอดสูงติดอันดับของประเทศ ชาวบ้านสร้างบ้านติดพื้นด้วย ทำให้สูดดมเรดอนง่าย ถ้าเป็นสมัยก่อนเราสร้างบ้านแบบยกพื้น โอกาสเป็นจะน้อยลง เพราะอากาศถ่ายเท

     ใครรู้บ้างว่าเครื่องปรับอากาศของเราล้างแอร์กันครั้งสุดท้ายเมื่อไร มันมีเชื้อโรคอะไรต่าง ๆ อยู่ในนั้นเต็มไปหมด เราคิดแต่ว่าเปิดปุ๊บขอให้มีไอเย็นออกมา แล้วมีระบบให้อากาศใหม่เข้ามาในห้องหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มี เพราะมักใช้พฤติกรรมของคนตอนเปิดปิดประตูเอาอากาศใหม่เข้ามาแทน แต่ถ้าคิดถึงความปลอดภัย...เราต้องออกแบบให้มีระบบนำอากาศใหม่เข้ามาไว้ก่อน ปัญหาคือ เห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ก็เลยไม่มีใครทำกัน

     ตึกอาคารทุกวันนี้ติดแอร์หมด คนก็ต้องทำงานอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบนี้ เราคิดแต่อยู่ในห้องแอร์ แล้วใช้แอร์แบบประหยัดพลังงานที่สุด มันเป็นระบบปิดแบบตู้เย็นไฮเทค แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์จะเป็นอย่างไร เราไม่ได้คิด มันมีโรคที่เกิดจากการอยู่ในอาคารติดแอร์ เรียกว่า SBS หรือ Sick Building Syndrome แล้ว

3. “เหงื่อ”

     คิดดูว่าทำไมมนุษย์ต้องมีเหงื่อ

     เหงื่อคือ การระบายความร้อน และขับยูริกออกมาจากร่างกาย ถ้าเราอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีเหงื่อ ยูริกจะไปไหน ก็ลงไปที่ตับไต แล้วของเสียไม่ได้มียูริกอย่างเดียว มีอีกหลายอย่างที่ร่างกายต้องการขับออก สภาพปรกติทุกวันเราจึงต้องมีเหงื่อซึม ๆ แต่คนกลับไม่ชอบเหงื่อ หนีไปอยู่ในห้องแอร์เพราะรู้สึกสบาย แต่พิษไปลงที่ตับไต ทำให้อวัยวะ ๒ อย่างนี้ต้องทำงานหนัก

     เราจะพบว่าคนเป็นโรคมะเร็งตับกันมากขึ้น แม้จะไม่ใช่คนที่กินเหล้า แล้วเรากินอาหารแบบฝรั่งที่มีแต่ไขมัน เหงื่อก็ไม่ออก นั่งอยู่ทั้งวัน เกิดปรากฏการณ์โรคช็อกโกแลตซีสต์กลายเป็นโรคประจำตัวของสาวออฟฟิศ

     ผมเชื่อว่าร่างกายของเราคือ โฮโมเซเปียนส์ มันออกแบบมาให้อยู่กลางแจ้ง ไม่ได้ออกแบบมาให้นั่งอยู่ในออฟฟิซจนค่ำ มันเลยเกิดอาการป่วยที่ไม่รู้สาเหตุ เพราะเราบิดเบือนตัวเอง

     สถาปนิกบ้านเรามัวแต่ติดกับการคิดเรื่องรูปทรงปรากฏของสถาปัตย์ แต่ไม่ได้มองเนื้อหาจริงๆ ว่าสถาปัตย์ทำงานอย่างไร มันมีทั้งเรื่องของจิตวิทยา และเทคนิค ทำอย่างไรให้คนอยู่แล้วสบายที่สุด จะเปิดช่องรับลม หรือรับแสงแดดอย่างไร ไม่ได้คิด คิดแต่ว่า...ติดแอร์แล้วปรับอุณหภูมิ ๒๕ องศาเซลเซียส อ้างว่าใช้แอร์ประหยัดไฟนะ

----------------------------------

Q3 : ทำไมสถาปนิกบ้านเราส่วนใหญ่คิดแต่เรื่องการออกแบบตึกให้สวยๆ ?

     ผมเรียกว่าความเบาปัญญาของคนมีความรู้

     สถาปนิกบ้านเราที่คิดฟอร์มเก๋ ๆ สวย ๆ ก็ลอกแบบมาจากฝรั่งที สิงคโปร์ที ดูจากคนอื่นมา แต่แก่นสารลึกๆไม่มี มันเริ่มจากการไม่อยากเป็นตัวเองก่อน เลยผลิตงานได้แค่นี้ คิดแต่เรื่องฟอร์มอย่างเดียว อยากจะเป็นเหมือนสถาปนิกดัง ๆ ในต่างประเทศให้ได้ ก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ฟอร์มหวือหวาไว้ก่อน แต่สถาปนิกที่คิดหนทางอื่นก็มีไม่น้อยนะครับ ในอังกฤษเดี๋ยวนี้ ใครทำฟอร์มหวือหวา เขาไม่สนใจแล้ว เขาสนใจว่างานออกแบบนี้เว้นที่ว่างให้กบเขียดมันเดินผ่าน มีระเบียงให้สัตว์อยู่หรือเปล่า ใครคิดแบบนี้ คนอังกฤษจะทึ่งมาก น่าสนใจกว่า เขาหันไปเน้นเรื่องทางนิเวศวิทยาและสังคมกันแล้ว ไม่เห็นแก่นสารว่าต้องไปยึดถือเรื่องฟอร์ม

     แต่สถาปนิกไทยบางคนตามไม่ทัน เพราะการเข้าถึงองค์ความรู้อาจมีอะไรบังตา อาจติดกับมายาคติบางอย่าง อาจจะตั้งแต่การแต่งตัวใส่สูทผูกเนกไท ทั้งที่อากาศบ้านเราร้อนมากแต่ทำไมชอบใส่สูทสีดำกัน

----------------------------------

Q4 : พอได้เป็นอาจารย์แล้วมีวิธีสอนลูกศิษย์อย่างไร ?

     สิ่งที่ผมออกแบบการสอนให้เด็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนี้ คือสิ่งที่ผมอยากเรียนในสมัยก่อน ทุกวันนี้สังคมยอมรับแล้วว่าไม่ต้องออกแบบคอมเพล็กซ์ก็ได้ เพราะจบไปจะมีสักกี่คนได้ทำคอมเพล็กซ์จริงๆ วิชาชีพสถาปัตย์ถูกตีความไปกว้างขึ้น งานชุมชน งานเชิงนิเวศวิทยา งานเชิงวัฒนธรรม พอผมจับประเด็นได้ก็รู้ว่าจะสอนอย่างไร เพราะผมทำงานจริงมาตลอด

     ผมจะพาเด็กไปเดินป่า ไปดอยลังกา แม่โถ แม่เงา พาไปดูบรรยากาศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราจะอธิบายให้เขาฟัง เช่นเวลาเดินไปแล้วเราไปนั่งพักใต้ร่มไม้ ผมจะอธิบายว่าก่อนหน้านี้ร่มไม้ไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่พอคุณนั่งใต้ร่มไม้ ร่มไม้กลายเป็นสถาปัตยกรรมทันที เพราะมนุษย์กำหนดความหมายใหม่ของพื้นที่ใต้ร่มไม้ พรมแดนระหว่างเด็กกับธรรมชาติจะเริ่มละลายจากการใช้ชีวิตกลางแจ้ง เรื่องของภายในกับภายนอกหายไป ผมพยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ ให้เขาหลุดออกจากการแบ่งแยกว่าสถาปัตยกรรมต้องทำด้วยปูน ติดกระจก

     ธรรมชาติเป็นสถาปัตยกรรม ถ้าเรากำหนดความหมายให้มัน และนี่เป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน เพราะเราไม่ได้ไปเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ผมจะให้เด็กลงพื้นที่ ให้มีประสบการณ์จริง ๆ เด็กจะได้เห็นอะไรหลายอย่าง เห็นว่ากะเหรี่ยงอยู่อย่างไร และนำกลับมาสร้างงานด้วยตัวเขาเอง

     พอผมเริ่มมีชื่อเสียง เคยมีคนถามลูกศิษย์ว่าเรียนกับอาจารย์จุลพรแล้วเคยเดินป่ากับอาจารย์หรือเปล่า ถ้าใครไม่ได้เดินดูเหมือนจะไม่ผ่านหลักสูตร

     ผลจากการที่ผมได้มาสอนมันบังคับให้เราต้องเรียบเรียงและพัฒนาความคิดให้เป็นระบบ ได้พบกับความหลากหลายของความคิดคนที่จะต้องโต้ตอบกับเรา เด็ก ๑๐ คนก็ ๑๐ แบบ เพราะพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มาทำอะไรในเรื่องเดียวกัน ก็สนุก มันทำให้เราพัฒนาความคิดเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น

----------------------------------

ฝากทิ้งท้าย

     หลายคนอยากอยู่บ้านแบบในแมกกาซีน แต่บ้านแบบนั้นมันไม่มีชีวิตจริง ๆ และคุณไม่มีทางอยู่แบบนั้น หนังสือบ้านทำหน้าที่ขายฝันให้เราว่าสักวันหนึ่งเราจะมีบ้านแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจปรัชญาแบบนี้ คนทั้งประเทศต้องกลับมามองตัวเอง เข้าใจว่าการอยู่แบบธรรมดา ๆ มีความงดงามทั้งสิ้น เรามีของดีของเราเอง แต่มักมองไม่เห็น ต้องรอฝรั่งมาบอก

     เราขาดความเข้าใจตัวเอง ไม่มีภูมิเรื่องตัวเองพอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร เราใส่แบบฝรั่ง กินแบบฝรั่งก็กลายเป็นมะเร็ง ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน พอตอนนี้ฝรั่งกลับมาสนใจความเป็นตะวันออก เราก็ตามเขามา ทั้งที่รากเดิมของเราเป็นอยู่แล้ว

     ทุกวันนี้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ไปเรื่อย ๆ และมีคนจำนวนหนึ่งชอบให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะเขาจะได้ขายของ พวกอุตสาหกรรมชอบให้คนไม่ต้องพึ่งตนเอง เขาจะได้ขายของสำเร็จรูปให้เรากิน ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป บ้านสำเร็จรูป ระบบคิดแบบนี้สุดท้ายก็ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากรากคือเราปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้ ผมเชื่อว่าถ้าคนส่วนใหญ่พึ่งตนเองได้ เราจะพบกับหนทางแห่งความยั่งยืนจริง ๆ

     ทำไมคนส่วนใหญ่ปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติไม่ได้ มันเริ่มจากมายาคติแท้ ๆ แล้วร่างกายเราวิวัฒน์ไปตาม มายาคติบอกว่าต้องอยู่แบบนี้ถึงจะมีรสนิยม พอลองอยู่ดู ร่างกายก็เสพความสบายแบบนั้นตามไปด้วย พอร่างกายวิวัฒน์ไป จะกลับไปอยู่อย่างไม่ปิดกั้นธรรมชาติก็กลายเป็นเรื่องลำบากลำบน แต่ความจริงเราฝึกร่างกายเราได้ ผมไปที่ไหน เดี๋ยวนี้ทุกคนนอนห้องแอร์กันหมดแล้ว หาคนไม่นอนห้องแอร์ยากมาก ไปถามรีสอร์ตทั่วประเทศ อยู่ริมทะเล หนาวจะตาย ยังต้องติดแอร์ ชุมพรหรือเชียงราย เหมือนกันหมด

     อาหารก็เป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น แต่เราไม่กินอาหารที่ออกแบบมาสำหรับท้องถิ่นเรา ไปกินของอีกท้องถิ่นหนึ่ง ก็เกิดปัญหา เรื่องอาหารเป็นภูมิปัญญาที่สะสมกันมานาน ทำไมหน้าร้อนต้องกินนี่ ทำไมหน้าหนาวต้องกินนี่ หน้าฝนกินนี่ ธรรมชาติมันออกตามฤดูให้เรากิน ไม่มีนอกฤดู ถ้าเราเก็บตามฤดูกาลมากินเราก็สัมพันธ์กับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม

     แม้แต่เรื่องความสะอาด เราก็ต้องสะอาดแบบฝรั่งที่สะอาดจนเกินไป ทำให้เราไม่มีภูมิต้านทาน ทุนนิยม อุตสาหกรรม ไม่ได้ทำให้เราผาสุกจริงๆ เพราะเขาจะไม่ลดการบริโภค มีแต่หาทางขยายผลผลิต

     ถ้าเรากลับมาดูหน่วยเล็กๆ คือตัวเรา วิถีชีวิตเราว่าจะกินอย่างไร อยู่อย่างไร อย่างขี่จักรยาน บอกว่าฝนตกขี่ไม่ได้ ผมเอาเสื้อฝนคลุมก็ขี่ได้ ไม่เห็นมีปัญหา เรื่องไม่นอนห้องแอร์ทุกคนก็ทำได้ ปัญหาคืออยู่ที่จะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง

     สิ่งที่ผมพูดมาจากความเข้าใจในธรรมชาติจริง ๆ และผมพูดอย่างไร ตัวผมเองก็ทำอย่างนั้น อยู่กลางแจ้ง ใช้แรงงาน ผมเป็นแบบนั้น และผมพิสูจน์แล้วว่า...มันดีต่อชีวิต

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณบทสัมภาษณ์ดีๆนี้ด้วยนะครับ หากเจ้าของบทสัมภาษณ์มาเจอเข้า แล้วไม่พอใจในการนำมาเสนอเป็นบทความนี้ กรุณาติดต่อผมทางอีเมล์ เพื่อทำการลบออกได้เลยครับ

ขอบคุณครับ

ความคิดเห็น