hostneverdie

weltrade

siamfocus

ตอนที่ 115 (บทความ) _ ป่าคอนกรีต กับ ความร้อน

ป่าคอนกรีต กับ ความร้อน
02 / 06 / 2558

     ผมใช้ชีวิตในกรุงเทพมา 10 ปีเข้าไปแล้ว จากคนชนบทจะกลายเป็นคนเมืองกรุงแล้วนะเนี่ย กลับบ้านปีละไม่ถึง 5 ครั้ง กลับไปแต่ละทีก็มีความสุขทุกครั้งกับธรรมชาติที่ให้ความเย็นสบายมากกว่าอยู่ในกรุงเทพ เวลาอาบน้ำที่บ้านบางครั้งยังต้องถามหาเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ที่กรุงเทพนี่กลับอยากได้เครื่องทำน้ำเย็นมาอาบซะมากกว่า

     แต่จะว่าไปแล้วเชียงใหม่บ้านเกิดผมก็ขยับเข้าใกล้คำว่า เมืองกรุง เข้าไปทุกทีๆเพราะ ด้วยจำนวนคนที่เยอะขึ้น แต่พื้นที่เท่าเดิม ทำให้เกิดอาคารสูงเพิ่มขึ้นมากมายอย่างรวดเร็ว ธรรมชาติหายไปมาก และเร็ว ความเย็นสบายก็เลยพลอยได้รับผลกระทบ ความร้อนอบอ้าวเข้ามาแทนที่ เรียกว่า น้องๆกรุงเทพเลยทีเดียว (คิดแล้วเศร้า)

     ความเจริญทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป หนึ่งในนั่นคือ ที่อยู่อาศัย จากในอดีตบ้านไม้ ก็กลายเป็นบ้านปูน บ้างก็ครึ่งปูนครึ่งไม้ (ล่างปูนบนไม้) ต่อมาคนเริ่มเยอะขึ้น ที่ดิน หรือพื้นที่ในการปลูกบ้านชั้นเดียว หรือสองชั้นในแนวราบเริ่มไม่พอ เราก็ปลูกบ้านในแนวดิ่งแทน กลายเป็นคอนโดสูงแทน จนตอนนี้คอนโดมีเยอะมาก มากขนาดที่เรียกว่า ป่าคอนกรีตได้เลย (ต้นไม้สูงก็ป่าไม้ คอนกรีตสูงก็ป่าคอนกรีตไง)

     จำนวนคนที่เยอะขึ้น และพื้นที่ที่มีไม่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดคอนโด แต่ก็มีอีกปัจจัยที่ทำให้คอนโด หรือบ้านเรือนในปัจจุบันนิยมสร้างด้วยปูนนั่นก็คือ ไม้หายาก และราคาแพง แล้วไหนไม้จะสร้างอาคารในความสูงมากๆไม่ได้อีกด้วย (ความแข็งแรงไม่น่าจะพอ น่ากลัวจะพังง่ายกว่าคอนกรีต)

     เขียนวกวนถึงเรื่องการเกิดของบ้านปูน และคอนโดมาพอสมควรแล้ว ทีนี้เข้าเรื่องความร้อนกันสักทีเนอะ (น่าจะเข้าตั้งนานละ) ผมไม่รู้ว่าระหว่างไม้ กับ คอนกรีต วัสดุชนิดไหนจะสะสมความร้อนไว้ได้มากกว่ากันนะครับ (ขี้เกียจหาข้อมูล) แต่ถ้าให้เดาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็คงต้องยกให้คอนกรีตล่ะครับ

     เมื่อก่อนผมอยู่บ้านไม้เวลากลางวันจะร้อนมากๆ (สมัยนี้เรียก ร้อนสัสๆ) แต่พอตกเย็นได้ไม่นาน ความร้อนเหมือนจะหายไปเร็วเหมือนกันนะ ยิ่งถ้ามีลมพัดด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเย็นเร็วมากขึ้นไปอีก พอได้มาอยู่บ้านปูน หรือตึกที่เป็นคอนกรีต (ชักงงกับตัวเอง ว่าจะใช้คำว่าปูน หรือคอนกรีตดีวะ..อืม ใช้คำว่า ไม่ใช่ไม้ก็แล้วกัน เพราะวัสดุก่อสร้างมันมีทั้ง อิฐ ปูน เหล็ก และคอนกรีต) เวลากลางวันก็จะเย็นหน่อย แต่พอตกเย็นทีไร แทนที่มันจะเย็นสบาย มันดันร้อนซะนี่ ต่อให้มีลมพัดมา ยังไงๆมันก็ยังร้อนอยู่ดี ลมร้อนชัดๆ

     สาเหตุที่บ้านปูน หรือตึกที่ไม่ใช่ไม้มันร้อนในตอนเย็นก็คือ วัสดุที่ใช้ในการสร้างมันคายความร้อนนั่นเอง ในเวลากลางวันมันโดนแสงแดด โดนความร้อน มันดูดซับไว้หมด และดูดซับได้ดีมากด้วย ตอนกลางวันเราเลยไม่รู้สึกร้อนไง แต่ตกเย็นพอมันคลายความร้อนเท่านั้นแหละ โอ้โห ภายในบ้านเหมือนเตาอบดีๆนี่เอง ร้อนสุดๆ ถ้าใครเคยอยู่ตึกชั้นบนสุด แล้วหลังคาเป็นพื้นดาดฟ้าที่ทำด้วยคอนกรีตล่ะก็นะ นรกชัดๆ (ผมเคยอยู่มาครั้งหนึ่งครับ ทีวีพังเลยเพราะ ความร้อนสุดๆ)

     ทีนี้ลองคิดดูสิครับว่า สภาพในกรุงเทพมีตึกเยอะขนาดไหน ไม่ว่าจะตึกสูง ตึกไม่สูง ล้วนแล้วแต่สร้างด้วยวัสดุที่ไม่ใช่ไม้ ตอนกลางวันตึกทั้งหมดต่างก็ได้รับความร้อนสะสมไว้ พอตกเย็นตึกทั้งหมดนั้นก็พร้อมใจกันคลายความร้อนออกมา บวกกับตึกที่เยอะแยะไปหมดนั้นบังทิศทางลมที่ควรจะพัดมา แต่ก็ไม่มา แล้วก็อัดเพิ่มเติมเข้าไปอีกกับความร้อนจากคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ต่างคนต่างเปิดเพื่อหนีความร้อน โอ้โห ยืนอยู่นอกอาคารเหมือนยืนอยู่ในเตาอบเลยล่ะครับสำหรับป่าคอนกรีตแห่งนี้ แต่ก็ด้วยความเคยชินล่ะครับ ผมก็เลยชินซะละ ร้อนมากก็เหมือนร้อนไม่มาก ทำอะไรไม่ได้ด้วย ก็ทำได้แค่...บ่น (ถ้าใครเป็นบ้านนอกเข้ากรุง แล้วมาเจอแบบนี้ในวันแรกนะ เชื่อเถอะว่าหายใจไม่ออก เพราะมันจะปรับตัวไม่ทัน)

     อ่อ..นอกจากตึกต่างๆที่คลายความร้อนแล้ว ยังมีพื้นถนน หรือพื้นทางเดินต่างๆอีกก็ใช่ย่อย ตกเย็นทีไร ไอร้อนพุ่งขึ้นจนเหมือนเดินอยู่บนเตาปิ้งไร้ควันเลยครับ ร้อนสุดๆ เอาน้ำราดแล้วก็ยังร้อนอยู่ดี

     สลับตัดภาพความทรมานจากความร้อนในเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่ชนบทกันดีกว่า

     ชนบทเดี๋ยวนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ต้นไม้ มีแต่ที่น่าปลูกข้าวนะครับ ตึกที่สร้างด้วยวัสดุที่ไม่ใช่ไม้ก็มี แต่เป็นตึกที่ไม่สูงมาก แล้วก็ยังมีไม่เยอะจนแออัดเหมือนในเมืองกรุง ถ้าเทียบสัดส่วนระหว่างตึก กับ ต้นไม้ ก็น่าจะอยู่ที่ 60 ต้นไม้ 40 ตึก (เดาๆเอาจากความรู้สึกที่ได้เห็นนะครับ)

     ถึงแม้ว่าบ้านที่ไม่ใช่ไม้ในชนบทจะเพิ่มขึ้น แต่บ้านไม้ก็ยังมีอยู่มาก ใครที่เคยได้อยู่บ้านไม้จะรู้เลยว่ากลางวัน กับตอนเย็นต่างกันรวดเร็วขนาดไหน คือแบบว่า ตกเย็นตะวันลับขอบฟ้าได้ไม่นาน บ้านก็เย็นแล้ว แต่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่รู้ทำไมตกดึก มันกลับร้อนขึ้นมาได้ (งง นะเนี่ย)

     สาเหตุที่บ้านไม้เย็นเร็ว ผมว่ามันน่าจะมาจากไม้ไม่สะสมความร้อน หรือถ้าสะสมก็น้อยมาก เวลาตกเย็นมันก็คลายไม่นานก็หมดไป จนเราอาจจะยังไม่ทันรู้สึก แล้วพอไม้โดนลมมันก็เย็นเร็วด้วย เพราะไม้มีช่องว่างเล็กๆระหว่างเสี้ยนไม้ (เกี่ยวไรวะ)

     ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชนบทอากาศไม่ร้อนมาในตอนเย็นนั่นก็คือ พื้นถนน หรือพื้นที่ต่างๆรอบตัวบ้านนั่นเอง พิ้นถนนที่เป็นดินลูกรัง พื้นที่รอบตัวบ้านที่มีทั้งปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ และเป็นดิน มันสะสมความร้อนไม่มาก และก็คลายความร้อนได้เร็ว มันเลยทำให้ชนบทไม่ร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบนั่นเอง

     ผมชอบบ้านไม้นะครับ ชอบต้นไม้ ป่าไม้ เพราะมันทำให้โลกไม่ร้อน เราก็ไม่ร้อนมากด้วย แต่ในสภาพปัจจุบันไม้หายาก และราคาแพง เราจึงต้องสร้างที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุอื่นแทน ถ้าเป็นไปได้นะครับ ผมอยากให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ไว้ติดกับผนังที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดส่องถึงผนังโดยตรงครับ มันน่าจะช่วยให้ผนังไม่สะสมความร้อนไว้มากเกินไป ตกเย็นก็น่าจะไม่ร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบ

     ธรรมชาติมีความสมดุลของมันอยู่แล้ว แต่มนุษย์เรานี่แหละทำเสียสมดุล ถ้าไม่เชื่อไปถามพี่แผ่นดินไหว กับพี่ภูเขาไฟระเบิดดูสิครับ

     ปล.บทความนี้...กูเขียนอะไรของกูเนี่ย อ่านแล้ว งง หาจับใจความไม่ได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น