ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 123 (บทความ) _ ต่างด้าว vs ต่างชาติ

ต่างด้าว vs ต่างชาติ
11 ก.พ. 2559

     เห็นขึ้นว่า vs (versus) นี่ ไม่ใช่จะมาต่อสู้กันนะครับ แต่จะมาเขียนถึงคำพูดระหว่าง ต่างด้าว กับ ต่างชาตินะครับ

     คนพม่า ลาว กัมพูชา เราชอบเรียกพวกเขาว่า ต่างด้าว

     คนญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฯลฯ เราชอบเรียกพวกเขาว่า ต่างชาติ

     ต่างด้าว คือ คำที่ใช้เรียกคนที่อยู่ในประเทศใกล้กับเรา และมีฐานะทางสังคม การเงิน ความเจริญใกล้เคียงกับเรางั้นเหรอ...คำตอบคือ ไม่ใช่เลยครับ เพราะจริงๆแล้ว ต่างด้าว กับ ต่างชาติ มีความหมายเหมือนกัน แต่พวกเราติดปาก และคุ้นชินกับแรงงานบ้านใกล้เรือนเคียง ที่เราเรียกพวกเขาว่าต่างด้าวนั่นเอง

     ด้าว เป็นภาษาราชการด้วยซ้ำไปครับ ความหมายจาก 'ราชบัณฑิตยสถาน' คือ แดน ประเทศ เช่น คนต่างด้าว ก็คือ คนต่างแดน หรือคนต่างประเทศนั่นเอง และใน 'พระราชบัญญัติ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑' ให้ความหมายของคำว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย


     แต่ก็อย่างที่บอกไปล่ะครับ เราคุ้นชินกับการเรียกแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา ว่าคนต่างด้าว แล้วเรียกแรงงานคนต่างประเทศชาติอื่นเช่น ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฯลฯ ว่าคนต่างชาติ คำว่าคนต่างด้าว มันก็เลยดูด้อยค่าไปอย่างห้ามไม่ได้ (เอ๊ะ หรือจะห้ามได้)

     แล้วคำว่า ต่างชาติ มาจากไหน ทำไมเราถึงใช้กันทั่วไป ผมคาดว่าน่าจะมาจากคำต่อท้ายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปครับ ประเทศชาติ ธงชาติ เพลงชาติ เชื้อชาติ สัญชาติ เราเลยติดปากเรียกคนต่างประเทศที่เข้ามาในไทยว่า คนต่างชาติ นั่นเองครับ (น่าจะใช่นะ น่าจะแนวๆนี้แหละ)

     ไม่ว่าจะเป็นคนพม่า ลาว กัมพูชา ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฯลฯ ถ้าเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะมาเที่ยว หรือมาทำงาน จะถือว่าเป็นคนต่างด้าวหมดนะครับ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ คนที่อยู่ต่างแดน ที่ไม่ใช่ประเทศที่ตัวเองถือสัญชาติอยู่น่ะ เป็นต่างด้าวหมดครับ .. เราไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไหน เราก็คือ คนต่างด้าว ของประเทศนั่นล่ะครับ

     แต่ก็นะ ด้วยความเคยชินทางสังคม และคำพูดที่ติดปาก ติดหูกันมายาวนาน ก็คงจะยากสักหน่อย ที่เราจะเรียกฝรั่งว่า...

     A : เฮ้ยๆๆ มีสาวต่างด้าวมาเที่ยวด้วยว่ะ (พูดกับ B ที่นั่งหันหลังให้สาวนักท่องเที่ยว)
   
     B : (ฟังคำพูดของ A แล้ว ก็ไม่แม้แต่จะหันไปมอง) เออ...แล้วไง มึงจะตื่นเต้นอะไรวะ หลังร้านนี่ก็ต่างด้าวทั้งนั้น (หลังร้านคนพม่าเพียบ)

     A : เฮ้ย น่าจะคนสเปนแน่ๆ หุ่นดี สวยชิบหาย

     B : (หันขวับไปดูสาว คอแทบเคล็ด แล้วก็หันกลับมาคุยกับ A) ต่างด้าวพ่อง!!! ต่างชาติชัดๆ

     A : .......-__-"

     นั่นล่ะครับ มันถูกแบ่งแยกคำพูด และชนชั้นกันมานานแล้ว คงจะยากสักหน่อย ที่เราจะใช้คำว่าต่างด้าวกับฝรั่ง

     A : เฮ้ยๆๆ สาวต่างชาติมาเที่ยวหลายคนเลย (ไอ้ A B คู่เดิม คราวนี้ A กวนตรีน B ละ)

     B : (หันขวับไปดูสาวทั้งตัว เพราะคอมันเกือบเคล็ดเมื่อกี้นี้ ในสมองมันคิดว่า ถ้าไม่สาวยุโรป ก็สาวญี่ปุ่นแน่ๆ แล้วก็หันกลับมาคุยกับ A) ต่างชาติพ่อง!!! นี่มันต่างด่าวชัด พุทายก้อม่ายชัก (สาวพม่าทั้งแก๊ง แต่สวยนะเออ หน้าตาเกาหลีเลย)

     A : (คิดในใจ...กูชนะ ฮ่าๆๆ)

     สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่เราคุ้นชินเรียกคนพม่า ลาว กัมพูชา ว่าเป็นคนต่างด้าวก็คงจะเพราะว่า พวกเขามักจะมีปัญหาเรื่อง การเข้ามาทำงานแบบผิดกฏหมายจนเป็นข่าวให้เราได้ยินกันนั่นเองครับ

     คนญี่ปุ่น เงินเดือน 100,000 บาท, คนอังกฤษ เงินเดือน 80,000 บาท, คนแคนนาดา เงินเดือน 50,000 บาท หรือคนพม่า เงินเดือน 9,000 บาท ก็ต้องขอเอกสารต่างๆเกี่ยวกับคนต่างด้าวหมดนะครับ เพื่อขอทำงาน หรือท่องเที่ยวในไทย

     บทความนี้มันเหมือนผมพยายามจะให้พวกเราใช้คำพูดเรียกคนต่างประเทศให้ถูกต้องว่า ต่างด้าวนะครับ แต่จริงๆไม่ใช่นะครับ ผมแค่เอามาเขียนอธิบายให้กระจ่างเฉยๆนะครับว่า ต่างด้าว กับ ต่างชาติ มันมีความหมายเดียวกัน จะใช้คำไหนก็ได้ เพราะต่างด้าวก็ไม่ใช่คำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามอะไรเลยครับ มันเป็นภาษาที่ถูกต้องในราชการคำหนึ่งเลยทีเดียว

ความคิดเห็น