ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตอนที่ 161 (บทความ) _ ความเป็นกลางทางการเมือง

 ความเป็นกลางทางการเมือง

19 ตุลาคม 2563

       จริงแล้วความเป็นกลางทางการเมืองไม่มีอยู่จริงในใจ ในความรู้สึกของคนๆนั้นหรอกครับ เพียงแต่ว่าในจุดที่แต่ละคนยืนอยู่ บางคนมันก็จำเป็นที่จะต้องออกมาพูดว่า เป็นกลาง ต่างหากล่ะครับ

       ในใจของบางคนนั้นเป็นประชาธิปไตยเต็ม 100% แต่ในสังคมของเขาต้องอาศัยอยู่กับคนที่โดนเรียกว่าสลิ่ม เขาก็เลยเลือกที่บอกว่าเป็นกลาง เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่กับสลิ่มได้อย่างลงตัว หรือบางคนเป็นสลิ่มเต็ม 100% แต่ในสังคมของเขาต้องอาศัยอยู่กับคนที่รักประชาธิปไตย เขาก็คงเลือกที่บอกว่าเป็นกลางเหมือนกันล่ะครับ

       มีบางคนมองว่า เอ้า คนอื่นเขายังประกาศตัวเลือกฝั่ง ยอมแตกหักกับอีกฝั่งได้เลย ยอมแตกหักกับเพื่อน กับพี่น้อง หรือแตกหักกับครอบครัว พ่อแม่เลย ทำไมคุณจะทำบ้างไม่ได้หรอก เออ...ก็ต้องมีคำถามกลับไปว่า คุณได้ยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขารึเปล่าครับ คุณได้รู้หรือไม่ว่าตัวเขามีศักยภาพมากแค่ไหนหากต้องแตกหักกับคนอื่นๆ แล้วเริ่มต้นทางเดินใหม่ เขาอาจจะมีภาระมากกว่าที่เราเห็น มีข้อผูกมัดต่างๆมากกว่าที่เรารู้ก็ได้นะครับ 

       ผมจึงอยากให้คนที่คิดแบบนี้คิดใหม่ว่า เราไม่ควรไปบังคับใครครับ เพราะคำว่าประชาธิปไตยของคุณ มันจะกลายเป็นเผด็จการในสายตาคนอื่นได้นะครับ หากรักประชาธิปไตยจริงๆ ขอให้ไปสนับสนุนคนที่ออกมาเลือกฝั่งแล้ว จะดีกว่ามัวไปเสียเวลา เสียความรู้สึกกับคนที่เขาไม่พร้อมเลือกฝั่งครับ ใจเขาใจเรานะครับ เข้าใจเขาด้วยครับ

       การเป็นกลางก็มีข้อดีอยู่นะครับ นั่นก็คือ หากในวันหนึ่งสังคมต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ คนที่ประกาศตัวว่าเป็นกลางนี่แหละครับ จะช่วยเป็นคนกลางให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับเข้ามาหากันได้ แม้จะยาก แต่เขาก็มีความเป็นกลางให้เห็น ทำให้น่าเชื่อถือกว่าคนที่เลือกฝั่งไปแล้วเมื่อในอดีตแน่นอนครับ

       ขอให้จำไว้นะครับว่า แต่ละคน ก็คือคนแต่ละคน คนไม่มีความเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝั่งไหน แต่หากเขาบอกว่า เขาเป็นกลาง ก็จงเชื่อเขา และรักษาความสัมพันธ์ไว้ครับ อย่าเอาเรื่องการเมืองมาพังความสัมพันธ์ครับ เพราะเรื่องอื่นๆที่ชอบเหมือนกัน ยังมีอีกเยอะ และมันอาจจะสร้างความสุขให้ความสัมพันธ์นี้ยืนยาวกว่าเรื่องการเมืองก็เป็นได้ครับ

ขอบคุณครับ

ต.ต้น

ความคิดเห็น