hostneverdie

weltrade

siamfocus

ตอนที่ 77 (บทความ) _ เล่าสู่กันฟัง


เล่าสู่กันฟัง

     ช่วงหลังๆมานี้ ทั้งเพื่อน ทั้งพี่น้องของผมในโลกโซเชียล เริ่มจะมีการโพสเกี่ยวกับการทำบุญไหว้พระ ใส่บาตร รวมไปถึงการบริจาคสิ่งของให้มูลนิธิต่างๆกันมากขึ้น ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเทรนด์อะไรหรือเปล่านะครับ แต่ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างมากกว่าการโพสว่า "ตอนนี้ฉันกินเหล้า เมาอยู่ที่ไหน"

     สำหรับการโพสในเรื่องที่ดีๆ ผมก็ทำมานานพอสมควร จนผมหลงตัวเองไปว่า เพื่อน พี่น้องที่โพสๆกันอยู่ทุกวันนี้ มองผมเป็นตัวอย่างที่ดีแน่ๆเลย สิ่งที่ผมโพสอยู่บ่อยๆก็คือ พอถึงวันพระ ผมก็โพสบอกทุกคนในเฟสว่า วันนี้วันพระนะ ให้ทุกคนได้รู้ว่า ควรทำดีในวันพระกันนะ หลังจากนั้นหลายเดือนต่อมา เชื่อหรือไม่ครับว่า มีคนทำตามผม คือ โพสบอกให้ทุกคนรู้ว่า วันนี้วันพระ บางคนก็เริ่มโพสว่า ใส่บาตรมานะ บางคนก็โพสว่าไปวัดมานะ จนเหมือนเริ่มเป็นกระแสแข่งกันทำบุญในวันพระ

     อีกเรื่องที่ผมทำ และโพสลงในเฟสก็คือ การรับบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ และเสื้อผ้ามือสอง เพื่อเอาไปบริจาคที่มูลนิธิกระจกเงาครับ ใครเอาอะไรมาบริจาคที่ผม ผมก็จะถ่ายรูป แล้วก็โพสลงเฟสให้ทุกคนได้รู้ และชื่นชมคนที่เอาของมาบริจาค พอผมรวบรวมของบริจาคได้จำนวนหนึ่ง ก็เอาไปบริจาคที่มูลนิธิกระจกเงา แล้วก็ไม่พลาดที่จะถ่ายรูปมาโพสด้วยว่า เอาไปบริจาคแล้วนะ

     เชื่อหรือไม่ครับว่า หลังจากนั้นหลายเดือน มีคนทำแบบผมอีกหลายคนเลย คือ ขอรับบริจาคสิ่งของต่างๆ แล้วนำไปบริจาค ทั้งที่มูลนิธิต่างๆ โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ ฯลฯ จนเหมือนจะกลายเป็นกระแสช่วยกันทำดีเพื่อคนอื่นไปเลยครับ

     ทั้งหมดที่เขียนมาเห็นได้ชัดว่านี่คือ การจรรโลงสังคม ที่มีการเลียนแบบต่อๆกันในด้านที่ดีๆ และเมื่อมีการจรรโลงสังคม ก็ต้องมีการสะท้อน หรือเสียดสีสังคม

     หากจะพูดถึงการสะท้อนสังคม หรือเสียดสีสังคม ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของละครล่ะครับ อาจจะพูดได้ว่า ละครไทยชาติเดียวเลยก็ได้ เพราะละครของต่างประเทศผมยังไม่ค่อยได้เห็นการสะท้อนสังคมสักเท่าไหร่ (ละครต่างประเทศอาจจะถูกคัดกรองมาแล้วก็ได้ เลยไม่ค่อยได้เห็น จะยกเว้นก็แต่พวกนักร้องที่ไม่ค่อยจะจรรโลงสังคมสักเท่าไหร่ แต่งตัวน่ากลัวมาก)

     ละครไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากจะเทียบกันระหว่างละครสะท้อนสังคม กับละครที่จรรโลงสังคมแล้ว อย่างแรกน่าจะเยอะกว่าแน่นอน อาจจะเพราะเรียกเรตติ้งได้ดีกว่า และในบทสรุปสุดท้าย คนทำไม่ดีก็ได้รับผลกรรมชัดเจนกว่าละครอย่างหลังที่อาจจะ ทำดีมาทั้งเรื่อง แต่บทสรุปสุดท้าย ก็แค่ได้ดี หรือจบแบบเฉยๆ เรตติ้งก็อาจจะไม่ดีอีกต่างหาก

     ละครสะท้อนสังคมมีเยอะครับ ในอดีตก็มีแย่งสามี ภรรยากัน บทสรุปสุดท้าย ตัวร้ายก็ได้รับผลกรรม ถ้าไม่บ้า ก็ตาย ถ้าไม่ตาย ก็ติดคุก ถ้าไม่ติดคุก ก็เสร็จตัวร้ายด้วยกันเอง ในปัจจุบันก็จะมีละครสังคมในรูปแบบของวัยรุ่นวัยเรียนมากขึ้น ยิ่งบวกกับละครสะท้อนสังคมรูปแบบเก่าที่ยังคงมาอยู่ด้วยแล้ว ก็ไม่รู้ว่าสะท้อนแล้วสังคมจะดีขึ้นรึเปล่า

     แต่ผมอยากให้มีละครจรรโลงสังคมเยอะขึ้นนะครับ เพราะการทำดีต่อๆกัน มันก็จะช่วยให้สังคมดีขึ้นเรื่อยๆ ต่างกับละครสะท้อนสังคม ที่คนดูก็รู้ทั้งรู้ว่า ตอนจบของการทำไม่ดีเป็นยังไง แต่ก็ยังทำตามละครกันอยู่ เพราะมีตัวอย่างในละครให้ดู แล้วก็คิดไปว่า ถ้าทำไม่ดีแบบนี้ ก็หาทางแก้ไขไว้ก่อนสิ ตอนจบของเราก็จะไม่เหมือนในละครแล้ว ก็คิดกันซะแบบนี้แหละ ละครสะท้อนสังคมก็เลยมีผลกระทบที่ตรงกันข้ามกับที่ต้องการ และก็อาจจะร้ายแรงพอสมควรเลย เมื่อเทียบกับละครจรรโลงสังคม ที่มองเห็นแต่สิ่งที่ดีๆ

     ละครทั้งสองแบบมีจุดประสงค์ที่ดีครับ บางทีก็อยู่ที่คนเสพ ว่าจะเลือกทำตัวแบบไหนเมื่อดูละครจบแล้ว คิดเป็นก็ดีไป แต่ถ้าคิดไม่เป็น สังคมก็แย่หน่อย

     ทิ้งท้ายบทความนี้ไว้ว่า ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วล่ะครับ แม้จะไม่ 100% แต่ก็ขอให้ทำดีกันเถอะครับ "ทำดีไม่ต้องอาย ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว" นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น